ก ข ค


“Beyond the education”
CALL US: +66(0)5324-2038

ลักษณะทางฉันทลักษณ์ของกาพย์เห่เรือ
กาพย์เห่เรือ เป็นหนึ่งในประเภทของคำประพันธ์ที่มีชื่อเรียกว่า กาพย์ห่อโคลง ซึ่งคำประพันธ์ ที่แต่ง โดยใช้กาพย์ยานี ๑๑ สลับกับ โคลงสี่สุภาพ โดยเนื้อความจะต้องเป็นอย่างเดียวกัน คือให้วรรคที่หนึ่ง ของกาพย์ยานี กับบาทที่หนึ่ง ของโคลงสี่สุภาพ บรรยายข้อความ อย่างเดียวกัน หรือบางที ก็ให้คำต้นวรรค ของกาพย์ กับคำต้นบท ของโคลง เป็นคำเหมือนกัน ส่วนบัญญัติ หรือกฎข้อบังคับต่างๆ เหมือนกับ กฎของกาพย์ยานี และโคลงสี่สุภาพ ทั้งสิ้น
ลักษณะการแต่งกาพย์ห่อโคลง ที่นิยม มี ๓ วิธี ดังนี้๑. แต่งกาพย์ยานีหนึ่งบท แล้วแต่งโคลงสี่สุภาพ ซึ่งมีเนื้อความเช่นเดียว กับกาพย์ยานี หนึ่งบท สลับกันไป กาพย์ห่อโคลงชนิดนี้ ที่ไพเราะและสามารถศึกษาเป็นตัวอย่างได้แก่ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์
ตัวอย่าง กาพย์ห่อโคลง
กวางทรายรายกินหญ้า สุกรป่าพาพวกจร
สุนัขในไล่เห่าหอน ตามเป็นหมู่พรูเพรียกเสียง
กวางทรายรายเสพหญ้า ดงดอน
หมูป่าพาเพื่อนจร ลูกล้อม
สุนัขจิ้งจอกหอน หลายเหล่า
เป็นหมู่พรูเพรียกห้อม เห่าอื้ออึงเสียง
( กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง : เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ )
๒. แต่งกลับกันคือเอาโคลงไว้หน้า เอากาพย์ไว้หลัง
โศกเอยเคยแต่เศร้า โศกเสมอ
พอพี่เผลอก็ละเมอ แต่น้อง
เพชฌฆาตนั่นคือเธอ หฤโหด
เราดั่งนกมาข้อง ข่ายแร้วเสน่หา
ใต้ร่มโศกโศกแสน สิ้นดินแดนแผ่นน้ำฟ้า
จำไว้ถึงชาติหน้า ว่าเขาฆ่าเราทั้งเป็น
( อังคาร กัลยาณพงศ์ )
๓. แต่งโคลงสี่สุภาพเป็นบทนำ ๑ บท แล้วต่อด้วยกาพย์ยานี ๑๑ พรรณนาเนื้อหาจนจบกระบวนความ โดยไม่จำกัดจำนวนบท แต่ต้องให้บทต้นของกาพย์ มีเนื้อความ เช่นเดียวกับโคลง ส่วนบทต่อๆ ไป จะขยายความรำพัน ให้พิสดารอย่างไรก็ได้ มักนิยมแต่ง เป็นบทเห่เรือ จึงเรียกชื่อ อีกอย่างหนึ่งว่า กาพย์เห่เรือ
ตัวอย่าง กาพย์เห่เรือ
ปางเสด็จประเวศด้าว ชลาลัย
ทรงรัตนพิมานชัย กิ่งแก้ว
พรั่งพร้อมพวกพลไกร แหนแห่
เรือกระบวนต้นแพร้ว เพริศพริ้งพายทอง
พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย พายอ่อนหยับจับงามงอน
นาวาแน่นเป็นขนัด ล้วนรูปสัตว์แสนยากร
เรือริ้วทิวธงสลอน สาครลั่นครั่นครื้นฟอง
( กาพย์เห่เรือ : เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ )
กาพย์
กาพย์ ตามความหมายเดิม มีความหมายกว้างกว่าที่เข้าใจกัน ที่กล่าวไว้ในหลักภาษาไทยคือบรรดาบทนิพนธ์ ที่กวีได้ ร้อยกรองขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โคลง ฉันท์ กาพย์ หรือ ร่าย จะนับว่าเป็นกาพย์ ทั้งนั้น แต่ในการแต่งคำประพันธ์ปัจจุบัน หมายความถึง คำประพันธ์ชนิดหนึ่ง เท่านั้น
คำประพันธ์ประเภทกาพย์ที่พบและนิยมแต่งกันมากในปัจจุบันมี ๓ ชนิด ได้แก่
๑. กาพย์ยานี ๑๑
๒. กาพย์ฉบัง ๑๖
๓. กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
กาพย์ยานี ๑๑ เป็นคำประพันธ์ร้อยกรองที่แต่งง่าย เพราะมีจำนวนที่ไม่มากในวรรค ไม่มีการบังคับเสียงท้ายวรรคเหมือนกลอน ไม่มีการบังคับรูปวรรณยุกต์เหมือนโคลง และไม่มีการบังคับคำครุ ลหุ เหมือนฉันท์ อีกทั้งยังมีสัมผัสบังคับน้อยกว่าอีกด้วย
ลักษณะบังคับของกาพย์ยานี ๑๑
๑. คณะ : กาพย์ยานี บทหนึ่ง มี ๒ บาท แต่ละบาทมี ๒ วรรค วรรคหน้ามี ๕ คำ วรรคหลังมี ๖ คำ๒. สัมผัส : สัมผัสบังคับของกาพย์ยานี ๑๑ คือ คำท้ายวรรคที่ ๒ ของบาทที่ ๑ จะส่งสัมผัสไปยังคำท้ายวรรคหน้าของบาทที่ ๒ ส่วนสัมผัสที่ไม่บังคับ คือ คำท้ายวรรคหน้าของบาทที่ ๑ จะส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ของวรรคที่ ๒ และ คำท้ายวรรคหน้าของบาทที่ ๒ จะส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ของวรรคถัดไป แต่ส่วนมากมักไม่นิยมละสัมผัส และมักจะแต่งให้ลงสัมผัสในคำที่ ๓ ของวรรคถัดไป
๓. ท่วงทำนองแต่งที่ถือว่าไพเราะ : กาพย์ยานี๑๑ จะแบ่งช่วงการอ่าน เป็น๒ / ๓ - ๓ / ๓ ถ้าแต่งให้จังหวะเสียงอ่านตกกระทบสัมผัสอักษรกัน จะทำให้บทกวีมีความงามและความหนักแน่นหนักหน่วงในท่วงที ทั้งทำให้เกิดความไพเราะด้วยเสียงอักษรที่ส่งสัมผัสกระทบกระทั่งกัน ตัวอย่าง
สายธารแห่งมวลทาส ยังผูกขาดเสมือนเคย
ชีวิตจึงสังเวย ตะกอนก้อนที่เกาะกุม
(น้ำเงิน : คมทวน คันธนู)
โคลง
โคลง คือคำประพันธ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีระเบียบวิธีเรียบเรียงถ้อยคำเข้าคณะ มีกำหนดเอกโทและสัมผัส
แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด คือ : โคลงดั้น โคลงสุภาพ และโคลงโบราณ
คำว่าสุภาพ ในโคลง นั้นมีความหมายเป็นสองทางคือ
๑. หมายถึงคำที่ไม่มีเครื่องหมายวรรณยุกต์ เอก โท
๒. หมายถึงการบังคับคณะและสัมผัสอย่างเรียบ ๆ
ไม่โลดโผน
ตัวอย่างโคลงสี่สุภาพ
เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ
( ลิลิตพระลอ )
ลักษณะบังคับหรือฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ
๑.คณะ : โคลงสี่สุภาพบทหนึ่งมี ๔ บาท บาทหนึ่งมี๒ วรรค วรรคหน้ามี ๕ คำ วรรคหลังมี ๒ คำ ยกเว้นวรรคหลังของบาทที่ ๔ มี ๔ คำ รวมเป็น ๓๐ คำ และตอนท้ายของบาทที่ ๑ และบาทที่ ๓
อาจจะเติมคำสร้อยหรือไม่ก็ได้
๒. สัมผัส : สัมผัสนอก หรือสัมผัสบังคับของโคลงสี่สุภาพ คือ คำท้ายในบาทแรกส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๕ ของบาทที่ ๒ และ ๓ คำท้ายของบาทที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๕ ของบาทที่ ๔ (ดูตามเส้นที่โยงไว้ในแผนผัง) นอกจากสัมผัสที่บังคับตามแผนแล้ว โคลงสี่สุภาพยังต้องการสัมผัสอีก ๒ อย่าง เพื่อเพิ่มความไพเราะยิ่งขึ้นคือ
- สัมผัสใน นิยมใช้สัมผัสอักษรมากกว่าสัมผัสสระ
- สัมผัสอักษรระหว่างวรรค คือ ให้คำสุดท้ายของวรรค หน้า สัมผัสอักษรกับคำหน้าของวรรคหลัง
๓. คำเอกโท :
๑. มีคำเอก ๗ ตำแหน่ง และคำโท ๔ ตำแหน่ง
๒. ตำแหน่งคำเอกและโทในบาทที่ ๑ สลับที่กันได้
๓. คำที่ ๗ ของบาทที่ ๑ และคำที่ ๕ ของบาทที่ ๒
และที่ ๓ ห้ามใช้คำที่มีวรรณยุกต์
๔. ห้ามใช้คำตายที่ผันด้วยวรรณยุกต์โท ในตำแหน่ง
คำโท
๕. คำสุดท้ายของบท ห้ามใช้คำตายและคำที่มีรูป
วรรณยุกต์แต่นิยมใช้เสียงจัตวาที่ไม่มีรูป
๖. คำเอก หมายถึงคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอกกำกับ ไม่สำคัญว่าจะเป็นเสียงวรรณยุกต์ใด ในทางปฏิบัติถ้าไม่อาจหาคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอกกำกับในตำแหน่งคำบังคับ ให้ใช้คำตายแทนได้
(คำตาย : ที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา หรือคำที่มีเสียงพยัญชนะท้าย เป็น เสียง ก บ ด)
หรือจะใช้คำเอกโทษ ก็ได้ ( คำเอกโทษ : คำที่ใช้อักษรต่ำเขียนแทนคำที่เป็นอักษรสูงของคำจริง ที่ต้องการใช้ เช่น ต้องการใช้คำว่า สู้ ในตำแหน่งที่บังคับคำเอก ก็เขียนเป็น ซู่ แทน )
ตัวอย่างการใช้คำตายแทนคำเอก
อุรารานร้าวแยก ยลสยบ
เอนพระองค์ลงทบ ท่าวดิ้น
เหนือคอคชซอนซบ สังเวช
วายชิวาตม์สุดสิ้น สู่ฟ้าเสวยสวรรค์
( ลิลิตตะเลงพ่าย : สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส )
ตัวอย่างการใช้คำ เอกโทษ โทโทษ
หิ่งห้อยส่องก้นซู่ แสงจันทร์
ปัดเทียบเทียมรัตน์อัน เอี่ยมข้า
ทองเหลืองหลู่สุวรรณ ธรรมชาติ
พาลว่าตนเองอ้า อาจล้ำเลยกวี
( โคลงโลกนิติ : สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร )
*** คำว่า ซู่ มาจากคำเดิม ว่า สู้ เป็นคำเอกโทษ คำว่า ข้า มาจากคำเดิมว่า ค่า เป็นคำโทโทษ
๗. คำโท หมายถึงคำที่มีวรรณยุกต์โทกำกับ ไม่สำคัญว่าจะเป็นเสียงวรรณยุกต์โทหรือไม่ก็ตาม เช่น ข้า ค้า น้ำ ไว้ ฯลฯ
นอกจากคำที่มีรูปวรรณยุกต์โทตามกำหนดแล้ว
ก็อาจใช้ คำโทโทษแทนได้ ( คำโทโทษ : คำที่ใช้อักษรสูงเขียนแทนคำที่เป็นอักษรต่ำของคำจริง ที่ต้องการใช้ เช่น ต้องการใช้คำว่า ท่วม ในตำแหน่งที่บังคับคำโท ก็เขียนเป็น ถ้วม แทน )
ตัวอย่างการใช้คำโทโทษ
เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม ถึงพรหม
พาเทพเจ้าตกจม จ่อมม้วย
พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม ทบท่าว ลงนา
หากอกนิษฐ์พรหมฉ้วย พี่ไว้จึงคง
( ศรีปราชญ์ )
๔.คำสร้อย : ปกติแล้ว โคลงสี่สุภาพจะมีลักษณะเด่นเฉพาะตรงเนื้อความที่สมบูรณ์ในวรรค หรือในบาท แต่ถ้าเนื้อความยังไม่สิ้นกระแส จะเติมคำสร้อยในท้ายบาทที่ ๑ หรือบาทที่ ๓ ก็ได้ แต่จะต้องเป็นเพียงการใช้คำเพื่อเสริมความหมายของความให้สมบูรณ์ในบาทหรือในวรรค ซึ่งจะใช้คำที่มีความหมายได้เพียง ๑ คำ เท่านั้น จะเป็นคำหน้าหรือคำหลังก็ได้ โดยนิยมใช้ คำเหล่านี้ประกอบ เช่น นา ฤา แฮ เฮย เอย รา นอ เนอ บารนี เทอญ ฯลฯ
ตัวอย่างการใช้คำสร้อย
จระเข้คับน่านน้ำ ไฉนหา ภักษ์เฮย
รถใหญ่กว่ารัถยา ยากแท้
เสือใหญ่กว่าวนา ไฉนอยู่ ได้แฮ
เรือเขื่องคับชะเลแล้ แล่นโล้ไปไฉน
( โคลงโลกนิติ : สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร )
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////